สื่อดิจิตอลได้รับความนิยมยุคใหม่ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบสร้างสรรค์

สหัสวรรษใหม่มาถึงพร้อมกับยุคของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก อันเป็นผลพวงของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ นวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งของอุปกรณ์ดิจิตอลและการครอบงำของสื่อใหม่ที่ขยายตัวขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์กลายเป็นสื่อเก่าหรือที่เรียกว่าสื่ออนาล็อกโดยปริยาย นักวิชาการจำนวนมากถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าความสามารถในการตอบสนองต่อวิถีชีวิตยุคใหม่ได้อย่างฉับไวและครบวงจรของสื่อดิจิตอลจะมาแทนที่ความสำคัญและยุติบทบาทของสื่อเก่าที่จะค่อยๆตายจากไปในอนาคตอันใกล้ หากจะวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีเทคโนโลยีสื่อสารเป็นตัวกำหนด อิทธิพลที่ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงของระบบดิจิตอลอาจเป็นเสมือนภัยคุกคามต่อสื่อเก่าที่มาพร้อมกับสื่อใหม่ แต่ถ้ามองให้ลึกถึงบทบาทของสื่อในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมแล้ว รูปแบบและการพัฒนาของสื่อใหม่นั้นล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำงานของสื่อเก่าทั้งสิ้น ยิ่งเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการไปไกลเท่าไหร่ ความเชื่อมโยงกับที่มาหรือต้นตอของแนวคิดที่มีมาก่อนก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

สื่อดิจิตอลที่ได้รับความนิยมยุคใหม่ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบสร้างสรรค์และปรับปรุงจากบทบาทการทำงานของสื่อเก่า ยกตัวอย่างเช่น Kindle หนังสือดิจิตอลที่ถูกพัฒนามาจากหนังสือแบบเล่ม ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้อ่านสามารถเก็บหนังสือหลายร้อยเล่มไว้ในเครื่องมือเดียวโดยไม่มีความจำเป็นต้องวุ่นวายกับการแบกหนังสือทีละหลายๆเล่มอีกต่อไปวิทยุดิจิตอลที่พัฒนามาจากวิทยุสื่อสารแบบเก่าก็ยังคงทำหน้าที่เดิม ถ้าไม่นับความแตกต่างของขนาดเมื่อเทียบ iPod กับวิทยุบูมบ็อกซ์แบบเด็กแร็พยุค 80 รวมไปถึงอีเมลที่พัฒนามาจากการสื่อสารทางจดหมายที่กลายเป็นเรื่องตกยุคไปแล้วหลังความสะดวกรวดเร็วทันใจของการส่งอีเมลเข้ามาแทนที่จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีของสื่อใหม่ที่รุดหน้าไปมากเหล่านี้เป็นการปรับปรุงและพัฒนาที่สืบเนื่องมาจากคุณลักษณะร่วมกับต้นแบบเก่า มากกว่าที่จะเป็นการปฏิวัติเชิงนวัตกรรมอย่างถอนรากถอนโคน การรังสรรค์สื่อใหม่โดยตั้งอยู่บนฐานการใช้งานของสื่อรูปแบบเก่าเป็นการตอกย้ำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสื่อเก่า เพราะอิทธิพลของสื่อเก่าที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านของสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาไปสู่สื่อใหม่ที่ตอบรับความเป็นไปของสังคมยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า